การสนับสนุนประเด็นทางสังคมเป็นหนึ่งในสิ่งที่นักการตลาดหยิบมาพูดกันบ่อยขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก โดยส่วนหนึ่งก็จากกระแสที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้นประกอบกับผลสำรวจที่ว่าผู้บริโภคคาดหวังให้ธุรกิจสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่าง ๆ
ทีนี้คำถามที่มันย้อนกลับมาสำหรับธุรกิจคือประเด็นสังคมอะไรที่แบรนด์ควรจะสนับสนุนกันบ้าง ? เพราะถ้าจะให้สนับสนุนกันทุกการเคลื่อนไหวเลยก็อาจจะดูเป็นเรื่องที่ทำให้แบรนด์ดูเยอะเกินไป และอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์สับสนเอาได้เหมือนกัน
ตรงนี้เองที่ก็มีหลักประกอบการคิดที่ให้ผู้บริหารได้ลองใช้ตริตรองดูเสียหน่อยว่าเรื่องไหนควรจะสนับสนุนกันบ้าง
1. ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวโยงกับธุรกิจของเราอย่างไร ?
แน่นอนว่าถ้าประเด็นนั้นเชื่อมโยงกับธุรกิจของเรามาก มันก็ย่อมเป็นประเด็นที่ธุรกิจต้องแสดงจุดยืนหรือมีรีแอคชั่นมากเป็นธรรมดาเพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักเลยก็ว่าได้ ซึ่งหลายธุรกิจก็มักจะใช้ประโยชน์กับเรื่องนี้ด้วยเหมือนกันเช่นถ้าธุรกิจออกมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การต่อต้านมลภาวะต่าง ๆ ก็ดูจะสอดคล้องกับพันธกิจของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
2. ประเด็นดังกล่าวตรงกับค่านิยมที่ธุรกิจยึดถือหรือไม่ ?
ในหลายประเด็นทางสังคมนั้นก็จะมีการพูดถึงค่านิยมของสังคมเช่นความเท่าเทียมกันทางเพศ การไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามหรือกลั่นแกล้ง ซึ่งอันนี้ก็ต้องย้อนดูว่าสอดคล้องกับค่านิยม (Value) ขององค์กรด้วยหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ธุรกิจยึดถืออยู่แล้วก็จะทำให้ภาพลักษณ์ที่ต้องการสร้างจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับที่พนักงานก็น่าจะรู้สึกว่าองค์กรพูดจริงทำจริงด้วยนั่นเอง
3. ประเด็นดังกล่าวส่งผลอะไรกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรหรือไม่ ?
หลายประเด็นทางสังคมอาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่อาจจะไม่ได้สอดคล้องหรือมีผลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร ก็อาจจะเป็นประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจน้อย แต่ถ้าเรื่องนั้นส่งผลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซัพพลายเออร์ การแสดงจุดยืนเพื่อสนับสนุนประเด็นดังกล่าวก็ไม่เพียงแต่เป็นการทำดีเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรด้วยนั่นเอง
Comments