top of page

เทคนิคในห้องประชุมให้หัวหน้าไม่กลายเป็นเผด็จการ



คงไม่ดีแน่ถ้าพอประชุมแล้วทุกอย่างก็ "แล้วแต่พี่" มีแต่คนที่เป็นหัวหน้าพูด หรือได้ข้อสรุปตามแต่ที่คนตำแหน่งสูงให้ความเห็นไว้ เพราะเราก็คงรู้กันอยู่ลึก ๆ ว่านั่นจะเข้าสู่บรรยากาศที่คนในองค์กรมองว่าหัวหน้าใช้อำนาจ เป็นเผด็จการทางความคิด หรือไม่ก็กลัวที่จะนำเสนอความเห็นออกมา


ไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะหัวหน้าเป็นอย่างนั้นจริง ๆ หรือเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่คนที่เป็นหัวหน้าทีม ผู้บริหาร ก็ควรหาวิธีการที่ช่วยไม่ให้นำไปสู่สถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งมันก็มีเทคนิคบางอย่างที่เอาไปใช้ได้อยู่เหมือน


✅ ให้คนอื่นนั่งหัวโต๊ะแทน


เป็นที่รู้กันดีว่าการนั่งหัวโต๊ะนั้นเป็นสัญลักษณ์บางอย่างเกี่ยวกับอำนาจ ซึ่งแม้ว่าหลายคนอาจจะนั่งแค่เพราะจะได้เห็นคนทั่วถึง แต่จริง ๆ แล้วมันก็นำไปสู่การสร้างความรู้สึกกับผู้เข้าประชุมด้วย มันเลยทำให้หลายคนปรับเปลี่ยนวิธีการนั่งโดยให้คนอื่นได้นั่งหัวโต๊ะบ้าง คนเป็นหัวหน้าย้ายที่นั่งไปอยู่กลางโต๊ะหรือ "เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับทีม" มากขึ้นนั่นเอง


✅ ผลัดกันให้คนในทีมนำประชุม


หลายครั้งที่ประชุมจะรอฟังจากคนที่ตำแหน่งสูงสุดว่าจะเอาอย่างไรต่อ หรืออยู่ในภาวะ "รอคำสั่ง" ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องดีแน่หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการฝึกให้คนอื่น ๆ ได้เป็นคนนำประชุมแล้วให้คนเป็นหัวหน้าอยู่ในบทบาทของผู้ร่วมประชุมและทำตามที่ผู้นำประชุมกำกับไว้นั่นเอง ซึ่งแม้ว่าแรก ๆ อาจจะดูติดขัดอยู่บ้าง แต่ถ้าทำได้ลื่นไหลก็จะกลายเป็นพฤติกรรมของทีมที่ดีเลยทีเดียว


✅ หา / ปั้นคนที่กล้าพูดคนแรก


มันคงจะดีไม่น้อยถ้าในทีมมีคนที่กล้าคิดกล้าแสดงออกโดยไม่ได้สนเรื่องตำแหน่งหรือต้องเกรงใจหัวหน้า และนั่นทำให้ผู้นำบางคนมองหาคนแบบนี้เข้าห้องประชุมเนื่องจากจะเป็นคนที่ช่วยลดความกดดันของคนอื่นที่กลัวการแสดงความเห็น แล้วพอเห็นว่ามีใครแสดงความเห็นได้ก็จะเริ่มพูดมากขึ้น


✅ ตั้งแง่กับความคิดตัวเอง (ก่อนหาคนสนับสนุน)


ถ้ากลัวว่าจะไม่มีคนกล้าค้านความคิดตัวเอง เราก็ต้องเริ่มค้านตัวเองให้ได้เสียก่อนโดยการจุดประเด็นถึงข้อเสีย ความเสี่ยง หรือตั้งแง่กับไอเดียแล้วชวนคนร่วมกันสนับสนุนมุมมองดังกล่าว ซึ่งนั่นจะทำให้คนรู้สึกโอเคมากขึ้นที่แม้แต่กับเจ้าของไอเดียเองก็ยังยิงไอเดียตัวเองได้เลย


✅ ให้รางวัลและชื่นชมกับคนที่ท้าทายไอเดีย


เมื่อมีคนที่กล้าคิดต่างออกไปจากที่หัวหน้าคิด หรือแสดงความเห็นในมุมที่ไม่เหมือนกัน ก็ไม่ควรจะสั่งให้หยุด กดดัน หรือกีดกันไอเดีย แต่ควรจะหาโอกาสชม หรือแสดงให้เห็นว่าตัวหัวหน้าเองชอบที่มีการแสดงความเห็นในลักษณะนี้ไม่ว่าจะใช้ความคิดนั้นหรือไม่ก็ตาม


สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เกิดจากพฤติกรรมของคนเป็นหัวหน้าที่เข้าประชุมจะเลือกทำ ซึ่งถ้าทำได้ดีก็จะมีส่วนสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมดี ๆ ในองค์กรแถมปรับมุมมองที่คนมีต่อตัวหัวหน้าเองได้ด้วย

Comments


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page