เมื่อเราพูดถึงคอนเทนต์นั้น เราสามารถหยิบจับหลายๆ อย่างมานับว่าเป็นคอนเทนต์ได้ ผมเคยพูดอยู่บ่อยๆ ว่าคอนเทนต์นั้นสามารถอยู่ในรูปแบบของข้อความ ภาพ เสียง วีดีโอ ฯลฯ หรืออาจจะเป็นอะไรได้อีกมากมายหากเราสามารถ “เสพ” มันได้ ฉะนั้นนักการตลาดคอนเทนต์จึงไม่ควรจำกัดการมองคอนเทนต์อยู่แค่การมองว่าเป็น Facebook Post หรือ Tweet เท่านั้น
ทีนี้ถ้าเราจะมองภาพกว้างๆ ของคอนเทนต์ที่เราเห็นในทุกวันนี้และนำมาจัดหมวดหมู่เพื่อที่จะสามารถนำไปใช้ในการวางกลยุทธ์ได้นั้น เราก็อาจจะพอจับกลุ่มได้ตามนี้
1. Short Form Content
คอนเทนต์ประเภทนี้จะมีคุณสมบัติเฉพาะคือการสามารถเสพได้ด้วยระยะเวลาอันสั้น ถ้าจะกล่าวง่ายๆ คือการที่ผู้เสพคอนเทนต์สามารถเห็นและเข้าใจสารที่ต้องการสื่อได้อย่างรวดเร็วชนิดกวาดสายตาก็ทำได้ คอนเทนต์ในประเภทนี้จึงมีเนื้อความที่สั้น กระชับได้ใจความ ถ้าเป็นข้อเขียนก็จะจบในความยาวเพียง 1-2 บรรทัด หรือไม่ก็เป็นรูปภาพที่เตะตาตั้งแต่ในการมองครั้งแรก
ด้วยความสั้นกระชับ จึงทำให้คอนเทนต์ประเภทนี้เหมาะจะใช้กับการดึงสายตา ดึงความสนใจของผู้คนในสื่อที่ข้อจำกัดเรื่องการใช้เวลาของผู้ใช้งานหรือคอนเทนต์ดังกล่าวนั้นต้องแข่งกับคอนเทนต์อื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่นการที่ผู้ใช้ Facebook กวาดสายตาและเลื่อนหน้าจอ Newsfeed ไปเรื่อยๆ หรือคนเล่น Twitter ไล่อ่าน Timeline ซึ่งแน่นอนว่ามีข้อมูลข่าวสารและอัพเดทมากมายอยู่ในหน้าจอที่ถูกเลื่อนผ่านไปอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานจึงมักกวาดสายตาอย่างรวดเร็ว ใช้เวลากับคอนเทนต์ใดคอนเทนต์หนึ่งไม่มากนัก นักการตลาดจึงต้องพยายามใช้คอนเทนต์ประเภทนี้ดึงให้ผู้ใช้หยุดสนใจอ่านสารที่ตัวเองต้องการบอกให้ได้
ตัวอย่างของ Short Form Content ก็เช่น Facebook Post ที่สั้นๆ กระชับ หรือการทวีตข้อความสั้นๆ และยังรวมไปถึงคอนเทนต์ประเภทรูปที่แชร์อยู่บนทั้ง Facebook Twitter หรือ Instagram อีกด้วย
2. Long Form Content
ในขณะที่ Short Form Content เน้นความรวดเร็ว กระชับ และเสพง่าย Long Form Content จะทำตรงกันข้าม คือการใช้คอนเทนต์ที่มีความยาวมากขึ้น ผู้บริโภคจำเป็นต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นในการเสพข้อมูล แต่ในขณะเดียวกัน การใช้เวลาที่มากขึ้นก็มาจากรายละเอียดและเรื่องราวของคอนเทนต์นั้นๆ ก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งขนาดความยาวที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้สามารถใส่รายละเอียด เนื้อหา หรือมีโอกาสในการสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ที่เสพคอนเทนต์ได้มากกว่า Short Form Content
Long Form Content มักมาในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ บล็อก วีดีโอคลิป คลิปเสียง ตลอดไปจนถึงการทำ eBook Webinar Slideshare ฯลฯ ซึ่งล้วนมักเป็นคอนเทนต์ที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ มีเนื้อหาที่ต้องพูดอย่างต่อเนื่องและอธิบายเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและครบถ้วน
ด้วยการที่เต็มไปด้วยการลงรายละเอียดนี่เอง Long Form Content จึงมักถูกใช้เพื่อนำเสนอข้อมูลต่างๆ ในเชิงลึกสำหรับคนที่มีความสนใจขี้นมาอีกขั้น เช่นกลุ่มคนที่ต้องการหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ นอกจากนี้ก็อาจจะมีการใช้คอนเทนต์ประเภทนี้กับการสร้างประสบการณ์ความบันเทิงที่ต่อเนื่องอย่างเช่นการทำคลิปวีโอที่มีเนื้อหาสนุก น่าติดตาม เป็นต้น
3. Conversations and Sharing Content
นอกจากคอนเทนต์สองประเภทข้างต้นที่เกิดขึ้นจากแบรนด์หรือผู้สร้างคอนเทนต์โดยตรงแล้ว ยังมีคอนเทนต์อีกประเภทที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในยุค Digital นั่นก็คือคอนเทนต์ที่มาจากการพูดคุยและสนทนานั่นเอง คอนเทนต์ประเภทนี้มักเกิดต่อเนื่องจากการจุดประเด็นโดยคอนเทนต์สองประเภทแรกและมีคนอื่นๆ เข้ามาแสดงความคิดเห็น พูดคุยและต่อยอดประเด็นที่ได้ถูกเริ่มเอาไว้ เมื่อเกิดการสนทนาแลกเปลี่ยนเกิดขึ้น บทสนทนาทต่างๆ ก็ล้วนกลายเป็นอีกหนึ่งคอนเทนต์ที่จะถูกพบเห็นและถูกเสพต่อเนื่องไปด้วย เรามักพบว่าหลายๆ ครั้งเนื้อหาของการคอมเมนต์เองก็มีความน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าโพสต์ต้นเรื่องเลย
ในสมัยก่อน เรามักพบ Conversations and Sharing Content ตามการตั้งกระทู้สนทนาใน Webboard ต่างๆ แต่ในปัจจุบันก็สามารถเห็นได้จากคอมเมนต์ในโพสต์ต่างๆ ทั้ง Facebook YouTube หรือ Instagram
คอนเทนต์ประเภทนี้มีความสำคัญอยู่พอสมควรเนื่องจากเป็นการเพิ่มมิติต่อจากสารแรกที่ถูกส่งออกมา ขณะเดียวกันก็ดึงให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เสพคอนเทนต์ด้วยกัน นักการตลาดสามารถวางแผนได้ว่าจะใช้กลวิธีใดให้คนเกิดการพูดคุยและต่อประเด็นที่เกี่ยวกับแบรนด์ของตัวเองในบทสนทนา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึงระวังเพราะการสนทนานั้นอยู่นอกเหนือการควบคุมของแบรนด์ จึงอาจจะมีความเสี่ยงจะเป็นการสนทนาในแง่ลบได้ด้วยเช่นกัน
ทั้ง 3 ประเภทคอนเทนต์ข้างต้นคือการแบ่งกลุ่มที่ทำให้เห็นลักษณะเด่น ข้อดีข้อเสียของแต่ละประเภทอย่างเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เราจะเห็นว่าการทำคอนเทนต์แต่ละประเภทสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป Short Form Content อาจจะเหมาะในการสร้างความสนใจและง่ายต่อการเสพบนอุปกรณ์พกพาซึ่งผู้ใช้งานไม่ต้องการใช้เวลามากนัก แต่ขณะเดียวกันถ้าต้องการคอนเทนต์ที่สามารถให้รายละเอียดที่มากพอสำหรับผู้บริโภคที่มีความสนใจพิเศษแล้ว Long Form Content ก็จะเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าว ส่วน Conversational Form Content ก็จะเป็นตัวช่วยสร้างบทสนทนาและปฏิสัมพันธ์แบบหลายทาง รวมทั้งเป็นโอกาสแชร์ประสบการณ์ร่วมกันของผู้บริโภคด้วย เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว นักการตลาดคอนเทนต์ก็พอจะบอกได้ว่าไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่ที่คอนเทนต์ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น หากแต่ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันนั้นจะนำไปสู่การให้ความสำคัญของแต่ละประเภทที่แตกต่างกันออกไป
Comments