top of page

บรีฟ Review Content อย่างไรให้ดี ? ให้ได้ผลตรงจุด ?

การจ้างรีวิววันนี้ไม่ใช่ถูก ๆ กันแล้ว และความนสำเร็จของการทำคอนเทนต์รีวิวก็อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องยอดวิวอย่างเดียว แต่คือตัวผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดูรีวิวนั้นด้วย

ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราจะบรีฟงานรีวิวอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดกัน ?

คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผมถามในคลาส Content Marketing อยู่บ่อย ๆ เพราะทุกวันนี้หลายบริษัทก็มักจะว่าจ้างเหล่า Influencer ช่วยทำคอนเทนต์เพื่อพูดถึงสินค้าต่าง ๆ อยู่

แน่นอนว่าถ้าคิดกันเร็ว ๆ นั้น การรีวิวก็คือให้ตัวผู้รีวิวพูดถึงและแนะนำสินค้าตามที่ผู้รีวิวมีความคิดเห็นต่าง ๆ ไป ซึ่งก็อาจจะมีชอบหรือไม่ชอบตามความคิดของตน

สำหรับนักรีวิวอาชีพแล้ว ก็คงจะมีแฟนคลับที่มักจะชื่นชมและติดตามวิธีการรีวิวของคนเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่มืออาชีพเหล่านี้จะเก่งในเรื่องของการหยิบประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจมาชู นำเสนอ หรือคิดวิธีการที่ตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ของคนดูว่าน่าจะสงสัยหรืออยากรู้อะไรเป็นพิเศษ จึงไม่แปลกที่คอนเทนต์ของนักรีวิวเหล่านี้มักจะมีคุณภาพและสร้างผลตอบรับที่ดีกลับมายังตัวสินค้าได้

แต่กับนักรีวิวบางคนแล้ว หากปล่อยให้รีวิว “ตามใจฉัน” อาจจะกลายเป็นการรีวิวออกทะเล หรือไม่ได้แตะเนื้อหาสำคัญที่จะช่วยให้สินค้านี้ขายได้ บ้างก็อาจจะโฟกัสกับวิธีการนำเสนอมากกว่าเนื้อหา กลายเป็นคนดูอาจจะสนุกกับการดู แต่ท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้ตรงจุดและทำให้เกิดความอยากซื้อแต่อย่างใด

ตรงนี้เองจึงเป็นที่มาว่าการบรีฟงานรีวิวนั้นไม่ใช่แค่ “ส่งของไปให้รีวิว” เพียงอย่างเดียว หากแต่ผู้ว่าจ้างก็ควรจะตีโจทย์สำคัญด้วยเหมือนกันคือกลุ่มลูกค้าที่จะดูรีวิวนั้น ๆ เป็นคนกลุ่มไหน และคนกลุ่มนี้น่าจะสงสัย อยากรู้ หรือมองหาอะไรจากการรีวิวนี้ และนั่นคือ “ข้อมูลสำคัญ” ที่ควรถูกพูดถึงในคอนเทนต์รีวิว

เรื่องนี้อาจจะดูไม่ซับซ้อนมากนัก แต่ถ้าจะคิดให้ลึกและวางแผนให้ดีแล้วก็สามารถคิดกันแบบละเอียดได้ เช่นนักรีวิว A มีกลุ่มคนติดตามที่ชื่นชอบเรื่องสเปคสินค้าเชิงลึก เน้นสมรรถภาพของสินค้าเป็นสำคัญ ตัวคนบรีฟงานเองก็ต้องดูว่าอะไรเป็นจุดเด่นของสินค้าที่ตรงกับประเด็นนี้ แล้วแนะแนวทางหรือข้อมูลที่สัมพันธ์กับประเด็นดังกล่าวไว้ช่วยทางผู้รีวิวให้รู้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการทำงาน ในขณะที่ถ้านักรีวิว B กลุ่มคนตามเน้นอยากรู้เรื่องการใช้งานจริง ก็จะเตรียมข้อมูลอีกแบบที่เอื้อให้สามารถนำเสนอสิ่งนี้มาให้ชัดเจน

ที่ต้องบอกเช่นนี้เพราะหากใช้วิธี “บรีฟเดียวกับทุกคน” ก็จะกลายเป็นกึ่ง ๆ การยัด Message ลงไปในตัว Influencer ที่เหมือน ๆ กัน ซึ่งสุดท้ายก็จะกลายเป็นการพูดจุดขายที่ตัวแบรนด์อยากนำเสนอมากกว่าจุดขายที่ลูกค้าซึ่งติดตาม Influencer นั้น ๆ อยากรู้

แม้ว่าเรื่องนี้อาจจะดูเป็นรายละเอียดที่ดูยุบยิบและอาจจะบ่นกันได้ว่า “คิดไปทำไมเยอะแยะ” แต่รายละเอียดเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ทำให้เกิดคุณภาพที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับลดความเสี่ยงที่จะทำให้การลงทุนทำคอนเทนต์รีวิวนั้น ๆ เสียเปล่าหรือไม่ได้คุณภาพนั่นเอง

Comments


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page