ในวันที่สังคมเริ่มตั้งคำถามกับหลายธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจจนสร้างผลกระทบให้คนมากมาย แนวทางการทำธุรกิจที่มีธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในสิ่งถูกพูดถึงว่าเป็นแนวทางสำคัญที่ธุรกิจพึงกระทำ เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเป็นที่ยอมรับจากคนในสังคม สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยได้รับความร่วมมือ ไว้วางใจจากคู่ค้าต่าง ๆ และนั่นจึงเป็นเหตุให้เรื่องของธรรมาภิบาลจำเป็นต้องถูกอธิบายให้กับผู้บริหารเพื่อนำไปใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจ
การกำกับดูแล (Governance) คืออะไร ?
การกำกับดูแลหมายถึงระบบและกระบวนการที่องค์กร สถาบัน หรือหน่วยงานใช้ในการกำกับดูแล ควบคุม และจัดการ โดยครอบคลุมการออกกฎระเบียบ แนวทางปฏิบัติ และโครงสร้างที่ใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจ และกำหนดความรับผิดชอบ การกำกับดูแลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรในการสร้างระเบียบ ความโปร่งใส และการจัดการที่มีประสิทธิภาพกับบริบทต่างๆ
ประเด็นสำคัญของการกำกับดูแล
ความรับผิดชอบ: องค์กรจะมีการกำหนดขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรและหน่วยงานในกำกับดูแลนั้นจะมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่นเดียวกับการรับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจของบุคลากรและหน่วยงานนั้น ๆ
ความโปร่งใส: การกำกับดูแลที่ดีจะมีความโปร่งใส ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรสามารถเข้าถึงข้อมูล การตัดสินใจและการดำเนินการต่าง ๆ ได้ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ
การตัดสินใจ: การกำกับดูแลจะมีการระบุแนวทางการตัดสินใจ ขั้นตอนในการตัดสินใจ บทบาทและความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจใจการตัดสินใจ
การปฏิบัติตามกฎระเบียบ: มีการออกข้อบังคับ ระเบียบ และมาตรฐานทางจริยธรรมขององค์กร ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินการภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและรักษาค่านิยมต่าง ๆ ไว้ได้
การบริหารความเสี่ยง: มีการประเมินและการจัดการความเสี่ยงขององค์กร การระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและการใช้กลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยง
การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย: การกำกับดูแลจะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า ชุมชน คู่ค้า ฯลฯ ได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานขององค์กร หรือได้รับการพิจารณาในกระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ
การติดตามผล: การกำกับดูแลจะรวมไปถึงกลไกในการติดตามผลการปฏิบัติงานและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การประเมินอย่างสม่ำเสมอจะช่วยระบุสิ่งที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร
มาตรฐานทางจริยธรรม: การกำกับดูแลทางจริยธรรมจะกำหนดแนวทางสำหรับพฤติกรรมทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์ภายในองค์กร โดยจะแนะนำพฤติกรรมที่สอดคล้องกับค่านิยมสำคัญ เช่นเดียวกับการระบุพฤติกรรมที่ไม่ควรกระทำในองค์กร
โครงสร้างผู้นำ: การกำกับดูแลจะกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของผู้นำภายในองค์กร เช่น คณะกรรมการ ผู้บริหาร และทีมผู้บริหาร
ความยั่งยืน: แนวทางกำกับดูแลที่ดีมักมุ่งเน้นไปที่การสร้างความยั่งยืนและความสำเร็จขององค์กรในระยะยาวโดยการตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลกระทบในอนาคต
การกำกับดูแลแบบมีธรรมาภิบาล (Good Governance) คืออะไร ?
การกำกับดูแลแบบมีธรรมาภิบาลคือการที่องค์กรออกกฎระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งแนวทางต่าง ๆ ในการดำเนินการธุรกิจไปในทางที่ดี มีประสิทธิภาพ เกิดผลประโยชน์อันดีกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการกำกับดูแลที่มีธรรมาภิบาลนั้นมักประกอบด้วย
มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ การตัดสินใจต่าง ๆ
มีความรับผิดชอบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรสำหรับการตัดสินใจที่เกิดขึ้น
ดำเนินการภายใต้ข้อกฎหมายของสังคขม
ดำเนินการตามกรอบจริยธรรมและคุณธรรม
ตอบสนองความต้องการและข้อกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้อง
การกำกับดูแลครอบคลุมคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ได้มองข้ามกลุ่มใดไป
การกำกับดูแลเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความรับผิดชอบ และการจัดการที่มีประสิทธิภาพในบริบทที่หลากหลาย ช่วยป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ช่วยให้มั่นใจในการตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ และสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แนวทางปฏิบัติด้านการกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลส่งผลต่อความมั่นคงและความสำเร็จขององค์กรและสถาบันต่างๆ
Kommentare