เรื่องของการทำ Digital Transformation นั้นถูกพูดถึงกันมาพักหนึ่งแล้ว แต่เราก็จะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรนั้นมีปัญหาในการดำเนินการเรื่องนี้แม้ว่าผู้บริหารต่าง ๆ จะบอกว่าเป็นเป้าหมายสำคัญ แต่เอาเข้าจริงก็พบว่าการ Transformation นั้นช้าหรือไม่เป็นไปในแบบที่ควรจะเป็น
สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร? ในหนังสือ Digital Business Transformation ซึ่ง CEO ของ Publicis Sapient ที่เป็นบริษัทด้าน Digital Business Transformation ได้ระบุสาเหตุน่าสนใจไว้หลายอย่างด้วยกัน ซึ่งก็มักจะเป็นปัจจัยที่พบในการดำเนินธุรกิจของหลาย ๆ องค์กร
1. การบริหารแบบ Top-Down Decision Making
พูดง่าย ๆ ก็คือทุกคนรอฟังคำสั่งจากเบื้องบ้น และการตัดสินต่าง ๆ ก็ต้องรอเบื้องบนกันหมด ผลก็คือทุกอย่างต้องวนไปวนมากับการขออนุมัติ ทำเรื่องขึ้นไป รอพิจารณา กว่าจะประชุม กว่าจะผ่านทีละขั้นตอนก็ใช้เวลาจนทำให้การ Tranformation ไม่ได้เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
2. การทำงานแบบ Silos
หลายองค์กรทำงานกันแบบเป็นเอกเทศ เรียกว่าตัวใครตัวมัน มีทีม แผนก กลุ่มงานที่แยกกันไป ไม่ได้มาข้องเกี่ยวกัน ฉะนั้นการจะปรับเปลี่ยนอะไรร่วมกันเลยเป็นเรื่องใหญ่เพราะต้องมาสังคยานาว่าจะเอาทั้งหมดมารวมกันได้อย่างไร ยิ่งถ้าแต่ละแผนกมีระบบของตัวเองแล้วจะเปลี่ยนให้เข้าสู้ระบบร่วมกันนั้นก็ยิ่งยากกันเข้าไปอีก นั่นยังไม่นับกับเรื่องบรรดาข้อมูลต่าง ๆ ของแต่ละแผนกที่ไม่ได้เอามาบูรณาการร่วมกัน เกิดปัญหาในการสร้างฐานข้อมูลกลางของบริษัทอีกมากมาย
3. เทคโนโลยีที่สืบทอดกันมา (แต่ล้าหลัง)
ระบบเทคโนโลยีของหลาย ๆ องค์กรเรียกว่าใช้กันมาร่วมสิบปี ยิ่งบริษัทใหญ่ ๆ ก็ต้องบอกว่าใช้กันมานานเหลือเกินโดยไม่ได้มีการอัพเกรดหรือจัดระบบให้เข้าที่เข้าทาง พอจะต้องอัพเกรดหรือปรับเปลี่ยนก็ทำได้ยาก นั่นยังไม่นับกับกรณีที่ระบบต่าง ๆ ถูกเสริมต่อกันมาแบบผิด ๆ ถูก ๆ โดยไม่ได้มีการวางโครงสร้างที่มั่นคงเพื่อให้สามารถพัฒนาต่อได้ในการทำ Transformation นี้ และนั่นก็กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ของหลาย ๆ กลุ่มบริษัท
4. การพะวงเรื่องผลประกอบการระยะสั้น
เป็นที่รู้กันดีว่าช่วงของการทำ Transformation นั้นจะเป็นช่วงที่มีผลกระทบต่อผลประกอบการพอสมควร เพราะจะมีการหยุดกิจกรรมบางอย่าง เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการดำเนินธุรกิจซึ่งอาจจะส่งผลต่อยอดขายและรายได้ ทำให้หลาย ๆ องค์กรก็แอบกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเดินหน้าทำ Transformation กันเต็มรู้แบบ ในขณะที่บางบริษัทเองก็ยังไม่กล้าจะทุ่มหน้าตักตัวเองกับ Tranformation เพราะยังต้องพะวงกับการดำเนินการในระยะสั้นอยู่ ทีมงานยังต้องโฟกัสกับการสร้างรายได้ให้เข้าเป้าที่วางไว้ในแต่ละไตรมาสอยู่ ก็เลยทำให้การจะปรับเปลี่ยนอะไรต้องชะงักอยู่บ่อย ๆ
5. การขาดพนักงานที่มีศักยภาพ
องค์กรที่เคลื่อนไปสู่การเป็น Digital Business นั้นจำเป็นจะต้องมีคนทำงานที่มีศักยภาพด้วย ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรายังมีแรงงานที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด มีกลุ่มคนเพียงหยิบมือที่จะมีศักยภาพและมีความสามารถในการทำงานดิจิทัลจริง ๆ และนั่นก็นำมาซึ่งปัญหาอีกว่าจะพัฒนาคนในองค์กรให้มีศักยภาพทันได้อย่างไร พร้อม ๆ กับการเพิ่มพนักงานกลุ่มใหม่ให้ทันกับการเติบโตที่เกิดขึ้น
6. ตัวตนและวัฒนธรรมขององค์กรไม่เอื้อกับการเปลี่ยนแปลง
ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกองค์กรจะมีตัวตนและวัฒนธรรมขององค์กรในแบบที่พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง พยายามเรียนรู้อยู่เสมอ หลายแบรนด์มีภาพขององค์กรที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมหรือมีความคิดที่จะพัฒนาศักยภาพใหม่ ๆ ให้กับต้วเอง และนั่นก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่องค์กรเหล่านี้จะคิดเปลี่ยนแปลงอย่างจริง ๆ จัง ๆ
7. การไม่คิดจะพัฒนาหรือสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ
ลักษณะการบริหารแบบหนึ่งที่มักจะเจอในธุรกิจยุคที่ผ่านมาคือการยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิม ยึดติดกับตัวตนของผู้บริหารเช่นเชื่อว่าตัดสินใจถูกที่สุดแล้ว และก็เลยไม่คิดจะเรียนรู้อะไรหรือปรับปรุงอะไรเพิ่ม พยายามทำให้แบบเดิมต่อไปเพราะมันคือสิ่งที่ถูก “คิดมาแล้ว” และ “เลือกมาแล้ว” เช่นเดียวกับพนักงานที่ก็มาทำตามแผนที่ถูกคิดมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งนั่นก็เลยกลายเป็นผลว่าองค์กรแบบนี้ก็ยากจะปรับเปลี่ยนตัวเองได้นั่นเอง
Comments