ทำไมกลยุทธ์คอนเทนต์ถึงพลาดเป้า? บทเรียนจากการเลือกหัวข้อที่ผิดพลาด
- Nuttaputch Wongreanthong
- 3 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

การทำ Content Marketing เป็นหนึ่งการทำการตลาดที่มีความสำคัญในปัจจุบัน หลายธุรกิจเลือกจะผลิตคอนเทนต์ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่อาจจะเห็นกันอยู่ไม่น้อยคือความผิดพลาดในการเลือกหัวข้อคอนเทนต์ (Content Topic) ที่บางทีกลายเป็นว่ามีคอนเทนต์ให้กับช่องทางของแบรนด์แต่อาจจะไม่ได้สอดคล้องในเชิงลกยุทธ์การตลาดเลยก็ได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุด้วยกัน
1. การขาดความเข้าใจว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง
หนึ่งในความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดคือการไม่รู้จักกลุ่มเป้าหมายของตนเองอย่างลึกซึ้ง นักการตลาดหลายคนผลิตคอนเทนต์ออกมาโดยไม่มีภาพชัดเจนว่า “เขียนให้ใครอ่าน” หรือ “ทำให้ใครดู” ส่งผลให้เนื้อหาไม่ตรงใจ ไม่ตอบโจทย์ และสุดท้ายก็ถูกมองข้าม หรือ “ไม่น่าสนใจ” เพราะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั่นมาจากการไม่ทำความเข้าใจ Pain Point หรือพฤติกรรมการค้นหาของผู้บริโภค
2. มองยอดวิว มากกว่ายอดขาย
ตัวเลขจำนวนผู้เข้าชมสูง อาจดูน่าตื่นเต้น แต่ถ้าไม่แปลงเป็นยอดขาย ก็อาจเป็นแค่ “ตัวเลขลวงตา” ที่หลอกนักการตลาดอยู่ ทั้งนี้ การไล่ทำคอนเทนต์ตามหัวข้อยอดฮิตที่มีแนวโน้มได้ทราฟฟิกสูง อาจทำให้เราหลงทางจากเป้าหมายที่แท้จริง คือ “การเปลี่ยนผู้อ่านให้เป็นลูกค้า”
3. เลียนแบบคู่แข่ง โดยไร้เอกลักษณ์
การดูแนวทางจากคู่แข่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่การลอกเลียนหัวข้อโดยไม่มีมุมมองเฉพาะตัว ย่อมทำให้คอนเทนต์ของคุณไม่โดดเด่นและไม่สามารถแข่งขันกับของเดิมที่มีอยู่แล้วได้ การทำคอนทเนต์หัวข้อเดียวกัน หากไม่มีมุมใหม่หรือไม่มีการปรับให้เข้ากับบริบทของแบรนด์และกลุ่มเป้าหมาย ก็ไม่ต่างจากการพูดซ้ำในห้องที่มีคนพูดเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วและทำให้เขาดความน่าสนใจไป
4. หัวข้อกว้างเกินไป = โอกาสที่หายไป
หลายแบรนด์เลือกเขียนหัวข้อกว้างเพื่อหวังว่าจะดึงดูดผู้ชมได้หลากหลาย แต่ในความเป็นจริง ผู้อ่านต้องการคำตอบที่เฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการเฉพาะของเขาและแก้ปัญหาได้จริง โดยหัวข้อที่เฉพาะเจาะจงนอกจากจะตอบโจทย์ผู้ค้นหาได้ตรงจุด ยังช่วยให้แบรนด์สามารถเจาะลึก สร้างความเชี่ยวชาญ และมีโอกาสติดอันดับในคีย์เวิร์ดเฉพาะได้ดีกว่าด้วย
กลยุทธ์คอนเทนต์ที่ดีไม่ใช่แค่การผลิตเนื้อหาจำนวนมาก หรือการเลือกหัวข้อที่ใครๆ ก็พูดถึง แต่คือการเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้ง สื่อสารด้วยความจริงใจ และเลือกหัวข้อที่สะท้อนถึงคุณค่าแท้จริงของแบรนด์
เพราะในโลกของข้อมูลล้นเกิน—เนื้อหาที่ “ใช่” ย่อมดีกว่าเนื้อหาที่ “เยอะ”
Commentaires