top of page

ทำอย่างไรจะสร้าง Complex Problem Solving?


complex problem solving

คำถามนี้เป็นเรื่องน่าคิดกับทักษะสำคัญยิ่งยวดในโลกต่อจากนี้ เพราะ Complex Problem Solving นั้นก็ไม่ใช่ทักษะพื้น ๆ แบบ Problem Solving ทั่วไปที่เอาจริง ๆ หลายคนก็ยังทำกันได้ไม่ดีเลย พอจะไปให้ถึง Complex Problem Solving ก็ดูเป็นเรื่องที่ยากอยู่ไม่น้อย


แต่ถ้าเราลองถอดรหัสกันจริง ๆ แล้ว เราก็อาจจะมองได้ว่า Complex Problem Solving นั้นคือการต่อยอดทักษะ Problem Solving ในมุมมองที่กว้างและลึกกว่าเดิม ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่าหากเราจะสร้างทักษะ Complex Problem Solving แล้วก็ต้องเปิดมุมมองและทัศนคติของเราเสียก่อนว่าเรากำลังเจอโลกที่มีความซับซ้อน (Complex World) เช่นเดียวกับปัญหาที่เราเจอข้างหน้านั้นไม่ใช่ปัญหาที่ง่ายดายแบบแต่ก่อน


1. สถานการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย หลากตัวแปร

สิ่งแรก ๆ ที่เราคงต้องฝึกวิเคราะห์กันคือการเห็นสถานการณ์ต่าง ๆ ตรงหน้าด้วยมุมมองที่พยายามคิดว่ามันเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรบ้าง มีความทับซ้อนของปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้เราเลิกเคยตัวกับการคิดว่าทุกอย่างเป็นรูปแบบตายตัว หรือเป็นลักษณะของการจับคู่คำถาม-คำตอบแบบพื้น ๆ เพราะในชีวิตจริงเราก็จะเห็นว่าสถานการณ์หลายอย่างนั้นมีความเชื่อมโยงกันของหลายสาเหตุนั่นเอง


2. ความสัมพันธ์กันของตัวแปรและปัจจัยต่าง ๆ

เมื่อเราเห็นว่าสถานการณ์ต่าง ๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะป้จจัยใดปัจจัยหนึ่ง เราก็ต้องเห็นต่ออีกว่าปัจจัยเหล่านั้นมีความสัมพันธ์อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบแปรผันตามหรือแบบผกผัน เพราะเราก็เรียนรู้บ่อย ๆ ว่าการเปลี่ยนไปของเหตุปัจจัยจะส่งผลต่อปัจจัยที่โยงกันไม่มากก็น้อย และนั่นนำไปสู่การหาคำตอบที่ยากขึ้นกว่าเดิมเนื่องจากบริบทโดยรอบของสถานการณ์นั้นจะเปลี่ยนไปนั่นเอง


3. การไม่อยู่นิ่งของสถานการณ์

เราต้องยอมรับว่าหลายปัญญหาในโลกนี้มีปัจจัยสำคัญที่ชื่อว่า “เวลา” ซึ่งพอเวลาเปลี่ยนไปก็จะได้คำตอบที่ไม่เหมือนเดิม เพราะกาลเวลาจะทำให้เกิดการเคลื่อนของปัจจัยต่าง ๆ มีผลกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับเรื่องการทำเซอร์เวย์ด้านการตลาดที่หากเปลี่ยนเวลาในการถามก็อาจจะได้คำตอบที่เปลี่ยนไป รูปแบบที่เคยใช้ได้เมื่อปีที่แล้วก็อาจจะไม่สามารถใช้ได้ในปีนี้อีกแล้ว


4. การเกี่ยวโยงกันของเป้าหมายและเงื่อนไข

เราจะพบว่าปัญหาที่เราพยายามแก้นั้นอาจจะไม่ได้เป็นโจทย์ง่าย ๆ ประเภท​ “ทำอย่างไรให้ยอดขายเพิ่มขึ้น” เพราะมันจะมีเงื่อนไขต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องโดยเงื่อนไขเหล่านั้นอาจจะมีทั้งการสนับสนุนปัญหาตั้งต้น หรือบางทีอาจจะย้อนแย้งกับเงื่อนไขเดิมเช่น “ทำอย่างไรให้ยอดขายเพิ่มขึ้นจากลูกค้าใหม่โดยที่ไม่ใช่งบประมาณเพิ่มและยังคงรักษาฐานลูกค้าเก่าให้มีรายได้มากกว่าเดิมไปพร้อม ๆ กัน” เป็นต้น นั่นทำให้เราต้องฝึกมองให้เห็นว่าโจทย์จริง ๆ ของปัญหาที่เราเผชิญอยู่นั้นมีเงื่อนไขอะไรซ่อนอยู่ หรือปัญหาที่เราเห็นรอบตัวนั้นจริง ๆ แล้วต้องเจอกับเงื่อนไขอะไร


ที่เล่ามานี้ก็คือการปรับมุมมองของตัวผู้คิดให้เห็นโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะเมื่อเราฝึกที่จะสังเคราะห์และแยกแยะปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว เราก็จะเริ่มเรียนรู้ที่จะคิดแก้ปัญหาในมิติจากภาพที่กว้างกว่าเดิมซึ่งแม้ว่าอาจจะยุ่งยากและซับซ้อน แต่ก็ทำให้เราเห็นภาพที่แท้จริงโดยไม่จมอยู่กับการติดกับว่าทุกอย่างจะเป็นรูปแบบตายตัว หรือไม่ได้ซับซ้อนอะไรนั่นเองล่ะครับ

댓글


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page