เวลาเราเลือกคนมาเป็นหัวหน้านั้น สิ่งที่เรามักจะคิดกันเร็ว ๆ คือเขามีผลงานอะไรมาบ้าง ทำอะไรบ้างที่ดูดี มีความสำเร็จอะไร และนั่นก็มักจะเป็นสิ่งที่เรารู้จากบรรดา Resume ของผู้สมัคร หรือการเล่าบรรยายเวลาสัมภาษณ์เมื่อให้ผู้สมัครได้เล่าออกมา
แต่จากประสบการณ์ของผมแล้ว หนึ่งในสิ่งที่เราควรรู้ไปมากกว่าเขาได้ความสำเร็จอะไรมาบ้าง คือการรู้ว่าเขาเจอความผิดพลาดอะไรมา และเขารับมือกับมันอย่างไร เช่นเดียวกับถ้าเราจะประเมินว่าทีมงานมีศักยภาพพอในการขึ้นเป็นหัวหน้าไหมนั้น ก็ต้องดูว่าตอนเขาเจอปัญหาเขาได้ทำตัวอย่างไร
ที่บอกเช่นนี้เพราะเราก็มักจะคุ้นกับประโยคที่ว่าหลายคนเข้าบริษัทเพราะอยากทำงานแต่ออกไปก็เพราะหัวหน้า หรือพูดกันแบบง่าย ๆ คือรับพฤติกรรมของหัวหน้ากันไม่ได้ และเวลาพูดถึงพฤติกรรมเหล่านั้นก็มักจะไปเห็นตอนที่อะไรมันไม่ได้ดั่งใจหัวหน้า ซึ่งเราก็คงพอจะคิดต่อกันได้ว่าเมื่ออะไรมันเป็นอย่างที่คิดไว้นั้น มันก็จะทำให้หลายคนเผยพฤติกรรมออกมา
บางคนเลือกจะมุ่งแก้ปัญหาโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง บางคนหันไปหาคนอื่นมารับผิดชอบ บางคนโวยวาย บางคนหัวเสียแสดงพฤติกรรมที่ทำให้คนรอบข้างอึดอัด ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแก่คนรอบข้างเป็นธรรมดา
"ปัญหามันมีอยู่แล้ว แต่อยู่ที่เราจะรับมืออย่างไร" นั่นเป็นคำที่ผมมักบอกน้องผมบ่อย ๆ ว่าคนเป็นผู้นำต้องรู้วิธีการจัดการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของตัวเอง การสื่อสาร การบริหารความรู้สึกของคนรอบข้าง เช่นเดียวกับการคิดต่อไปว่าจะแก้ปัญหากันอย่างไร เพื่อให้เราสามารถผ่านพ้นวิกฤตกันไปได้
สิ่งที่เราเรียนรู้กันมาในช่วงวิกฤตการณ์ COVID คือการเห็นว่าผู้นำ ผู้บริหารหลายคนอาจจะเก่งในเรื่องการทำให้บริษัทโต เก่งในเรื่องการขายและหาไอเดียมาทำให้ก้าวหน้า แต่พอเจอกับวิกฤต เจอกับสถานการณ์ที่มันไม่ได้ง่ายเหมือนกับปรกติแล้ว หลายคนกลับ "สอบตก" ในการแก้ปัญหาช่วงวิกฤตกันจนทำให้พนักงานหลายคนเกิดความรู้สึกไม่ดีกับองค์กร และเรื่องเหล่านี้เองเป็นสิ่งที่เตือนใจเราว่าหากจะพิจารณาคนมาทำงานโดยรับบทเป็นหัวหน้าทีมแล้วนั้น ก็ควรดูด้วยว่าเขาจัดการกับปัญหาใหญ่ หรือรับมือกับความผิดพลาดที่ไม่ได้ดั่งใจอย่างไร
เพราะไม่งั้นเราอาจะได้เจอกับคนที่เอาหน้า เอาความสำเร็จ แต่จัดการความล้มเหลวไม่เป็น แถมเผลอ ๆ ทำลายคนอื่นด้วยอีกต่างหาก นั่นเองล่ะครับ
Comments