top of page

ความแตกต่างระหว่าง Influencer กับ Creator



คำว่า Influencer กับ Creator ถูกใช้เยอะมากในการตลาดปัจจุบันหลังจากที่สื่ออนไลน์สามารถทำให้หลายคนสร้างคอนเทนต์และเผยแพร่ออกมาได้ นักการตลาดก็มักจะใช้สองคำนี้อธิบายแผนการตลาดรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน


แม้ว่า Influencer กับ Creator อาจจะถูกใช้แทนกันหรือสลับกันอยู่บ่อย ๆ แต่ถ้าวิเคราะห์กันรายละเอียดนั้น จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วสองคำนี้ก็ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว และสามารถส่งผลกับมุมมองที่เรามีต่อการตลาดได้เหมือนกัน


📍เราอาจจะเป็น Creator แต่อาจจะไม่ได้เป็น Influencer


ถ้าว่ากันด้วยรากฐานของความหมายนั้น Creator ที่เราพูดกันมาในวันนี้ก็มาจากคำว่า Content Creator หรือผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์นั่นเอง ซึ่งก็จะสามารถคิดไปถึงแต่ก่อนที่บางคนสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์ออกมาเผยแพร่ได้เช่นนักเขียน ช่างภาพ นักร้อง นักแต่งเพลง ที่ผลิตคอนเทนต์ออกมาเป็น "สินค้า" ให้กับตัวเอง โดยในปัจจุบันก็จะเห็น Content Creator มากขึ้นจากช่องทางดิจิทัลที่ทำให้คนสร้างสรรค์คอนเทนต์และเผยแพร่ออกมาได้ง่ายกว่าแต่ก่อน และนั่นจึงไม่แปลกที่แพลตฟอร์มอย่าง Meta, YouTube, TikTok มักจะเรียกคนสร้างคอนเทนต์ว่า Content Creator เป็นหลัก เพราะพวกเขาทำให้ตัวแพลตฟอร์มสามารถดำรงอยู่ไว้ได้โดยดึงดูดให้มีคนเข้ามาเสพคอนเทนต์อยู่อย่างสม่ำเสมอ


แต่ถ้าเรามองในมิติของคำว่า Influencer นั้น โฟกัสสำคัญไม่ใช่เรื่องของการสร้างคอนเทนต์ หากแต่เป็นความสามารถในการสร้าง "อิทธิพล" กับคนอื่น ซึ่งถ้ามองในแง่งการตลาดก็จะมองว่าคนนี้สามารถสร้างอิทธิพลอย่างไรให้กับกลุ่มเป้าหมายของการตลาด


แน่นอนว่าการสร้างอิทธิพลนั้นมักจะเห็นได้ชัดจากการสร้างคอนเทนต์ เช่นการเผยแพร่ความคิดเห็น รีวิว ที่มีต่อสินค้าเพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ เกิดความสนใจ หรือแม้แต่การเกิดความยับยั้งชั่งใจกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ในหลายครั้งที่อิทธิพลดังกล่าวอาจจะไม่ได้มาจากการตัวบุคคลนั้นต้อง "ทำคอนเทนต์" เพียงอย่างเดียว อาจจะมาจากกระบวนการอื่นได้เช่นการรับรู้มาว่าคน ๆ นี้ใช้สินค้านี้ก็ได้ เหมือนกับที่แฟนคลับหลายคนซื้อสินค้าตามดาราที่ตัวเองชื่นชอบใช้เป็นต้น


เมื่อมองอย่างนี้แล้ว แม้ว่า Content Creator กับ Influencer อาจจะเป็นวงกลมที่ทับซ้อนกันไม่สนิท จะมี Influencer บางคนที่ไม่ได้เป็น Content Creator แต่อาจจะเป็นที่รู้จักจากบทบาทหรือหน้าที่ต่าง ๆ หรือบางครั้งก็มาจากความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะความผูกพัน ความสนิทก็ได้ ในขณะที่ Content Creator บางส่วนก็ไม่ได้เป็น Influencer อะไร เพราะคนมาเสพคอนเทนต์นั้นก็เพียงเพื่อต้องการข้อมูลข่าวสาร หากแต่ไม่ได้เกิดอิทธิพลอะไรกับคน ๆ นั้นในประเด็นสำคัญ เช่นเราอาจจะเป็นคนที่ดูคอนเทนต์ของหลายคน แต่ไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการตัดสินใจก็ได้


📍โมเดลธุรกิจที่ต่างกันไป


ถ้ากล่าวในเชิงโมเดลธุรกิจนั้น วิธีการสร้างรายได้ของแต่ละแบบก็จะมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันไป


อย่าง Content Creator ก็สามารถมองได้ว่าคนดูหลายคน "จ่าย" เพื่อเสพคอนเทนต์ เช่นจ่ายเงินเพื่อสมัครสมาชิกแล้วได้อ่านบทความ ได้ดูคอนเทนต์ Exclusive หรือในกรณีของการสนับสนุน Creator ที่ตัวเองชื่นชอบเช่นการบริจาค การให้ของขวัญ ซึ่งนี่เป็นโมเดลพื้นฐานของการสร้างรายได้แบบดั้งเดิมเพราะมองว่าตัวคอนเทนต์คือ "สินค้า" ของตัว Creator เอง


นอกจากคนเสพคอนเทนต์จะเป็นคน​ "จ่าย" ให้กับตัว Creator เองแล้ว แบรนด์ธุรกิจก็สามารถมองการสนับสนุน Creator โดยการแลกเปลี่ยนเพื่อใช้ประโยชน์ในการ "เข้าถึง" กลุ่มเป้าหมายด้วย ซึ่งนั่นเป็นที่มาของการซื้อโฆษณาในคอนเทนต์ เช่นการติดแบนเบอร์ในบทความ การมี Spot โฆษณาก่อนเข้าคอนเทนต์


และเมื่อ Creator ทำคอนเทนต์ในพื้นที่ของการเป็น Influencer ได้ด้วย ก็เลยทำให้ธุรกิจมองการทำงานร่วมกับ Creator ในการสร้างคอนเทนต์เพื่อเป็นเครื่องมือในการ "สร้างอิทธิพล" กับกลุ่มเป้าหมายได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เห็นว่ามีโมเดลในการทำรายได้อยู่หลายแบบ


ในฝั่งของ Influencer นั้น โมเดลการสร้างรายได้ก็จะมองได้ทั้งการสร้างคอนเทนต์เพื่อโน้มน้าวกลุ่มเป้าหมายก็ได้ หรือจะรับเงินเพื่อใช้อิทธิพลของตัวเองในรูปแบบอื่นก็ได้เช่นการเป็นพรีเซนเตอร์ การทำกิจกรรมการตลาดร่วมกับธุรกิจ หรือตัว Influencer หลายคนก็จะใช้ประโยชน์จากอิทธิพลของตัวเองในการทำสินค้าของตัวเอง การทำธุรกิจตัวเองก็ได้เช่นกัน


จะเห็นว่าความทับซ้อนที่ว่านี้นำไปสู่การทำโมเดลธุรกิจที่หลากหลาย อยู่ที่ตัวบุคคลนั้นจะมีความเข้าใจและชัดเจนว่าตัวเองกำลังอยู่ในโหมดใดระหว่างตัว Influencer กับ Creator


📍มุมมองการตลาดกับความแตกต่าง


คำถามที่ตามมาคือการแยกแยะสองอย่างนี้ให้ชัดเจนนั้นมีผลอย่างไรกับการตลาด ?


ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คือการที่นักการตลาดชัดเจนอย่างไรกับตัวแคมเปญการตลาดที่กำลังวางไว้ ว่าเราต้องการ Creator หรือ Influencer เช่นเดียวกับเราต้องการผลลัพธ์อะไรจากการทำแทคติกนี้ เช่นเรากำลังต้องการสร้างการรับรู้ของสินค้าในวงกว้างหรือเราต้องการโน้มน้าวให้คนเปลี่ยนใจมาทดลองสินค้าของเรา ความชัดเจนในวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่ต้องการนี้จะสะท้อนกลับมาว่าเราต้องการเลือกใช้ Content Creator หรือ Influencer กัน หรือแม้แต่ว่าจะเป็นบุคคลเดียวกันก็จะทำให้เราแยกแยะได้ว่าเราต้องการ "คอนเทนต์" จากตัวคนนั้น หรือต้องการ "อิทธิพล" จากคน ๆ นั้นกันแน่


อย่างที่ได้กล่าวไปว่าสองคำนี้อาจจะถูกใช้แทนกัน สลับกันบ้าง แต่ถ้าเอาในความชัดเจนและถูกต้องนั้น จะเห็นได้ว่าสองคำนี้ไม่เหมือนกัน และมีบริบทที่ต่างออกไป การเลือกใช้ให้ถูกต้องก็เป็นการให้ความสำคัญกับรายละเอียด เพิ่มความแม่นยำให้กับการทำการตลาดของธุรกิจให้มีปประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง


Comments


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page