Ego Detox ก่อนเข้าห้องประชุม: เทคนิคง่ายๆ ที่เปลี่ยนการประชุมให้เกิดผลจริง
- Nuttaputch Wongreanthong
- 7 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที

แม้คำว่า Collaboration จะถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายในทุกองค์กร แต่ความร่วมมือที่แท้จริงนั้นกลับเป็นของหายาก โดยเฉพาะในห้องประชุมที่เต็มไปด้วยอัตตา ความเร่งรีบ และแรงกดดันจากเป้าหมายส่วนบุคคล หลายองค์กรลงทุนลงแรงกับระบบการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง แต่กลับพบว่าความร่วมมือเหล่านั้นไม่คุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้รับ
ในหนังสือ I Don’t Agree ของ Michael Brown ได้มีการอธิบายว่าจากงานศึกษาระยะเวลาหกปีชิ้นหนึ่งเปิดเผยว่า ความล้มเหลวของการทำงานร่วมกันในองค์กรส่วนใหญ่เกิดจากสองปัจจัยสำคัญ หนึ่งคือการประเมินค่าของความร่วมมืออย่างไม่ถูกต้อง และอีกหนึ่งคือ “สงครามชิงพื้นที่” (Turf War) หรือการแข่งขันภายในที่ทำให้สมาชิกแต่ละคนพยายามรักษาพื้นที่หรือชื่อเสียงของตนเอง มากกว่าจะมองเห็นเป้าหมายร่วมของทีม
เมื่อสมาชิกในทีมยังรู้สึกว่าต้องปกป้องตัวเองมากกว่าร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูลย่อมไม่เกิดขึ้น ตัวเลขจากการศึกษาเดียวกันชี้ว่า มากถึง 73% ของบริษัทที่ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญจากอีกฝ่ายได้ ทั้งที่ข้อมูลเหล่านั้นมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของโปรเจกต์ร่วม
ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากกระบวนการบริหารที่ล้มเหลวเพียงอย่างเดียว หากแต่มาจากพฤติกรรมของแต่ละคนที่เกิดจาก “อีโก้” ที่พวกเขาอาจไม่รู้ตัวว่าพกติดตัวเข้าห้องประชุมไปด้วยซึ่งนั่นนำมาสู่ประเด็นที่ว่าการลดอีโก้ก่อนเข้าประชุมนั้นจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการประชุม
แล้วการลดอีโก้นั้นเริ่มอย่างไร ? ในหนังสือได้อธิบายจุดเริ่มต้นคือการสำรวจตัวเองเพื่อเข้าใจพฤติกรรมที่ตัวเองมักทำจนขัดขวางบรรยากาศของทีม เช่น ความคาดหวังว่าจะได้เครดิต ความไม่ไว้ใจในความสามารถของผู้อื่น การรีบแย้งก่อนจะฟังให้จบ หรือแม้แต่ความเชื่อว่าความคิดของเราดีที่สุด และอ่านทบทวนก่อนทุกครั้งที่ต้องเข้าประชุม
Michael Brown นักเขียนและโค้ชด้านองค์กร ใช้สิ่งที่เขาเรียกว่า “พิธีกรรมถอดอีโก้” เขาจะจินตนาการว่าตนเองถอดเสื้อคลุมหนา ซึ่งแทนสัญลักษณ์ของความต้องการเอาชนะออก ก่อนจะถอดเสื้อตัวข้างในอีกตัว ซึ่งแทนความหมกมุ่นในผลประโยชน์ส่วนตัว เมื่อเดินเข้าสู่ห้องประชุม เขาจะเหลือเพียง “ตัวตนที่พร้อมฟัง เข้าใจ และร่วมมือ” หรืออาจจะทำพิธีกรรมในแบบของคุณเองเช่นการหายใจลึก ๆ พร้อมพูดกับตัวเองว่า “วันนี้จะฟังมากกว่าพูด” เป็นต้น
แม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็ก หรือแม้กระทั่งแปลกใหม่ แต่เทคนิคเหล่านี้กลับได้ผลอย่างมากกับผู้บริหารหลายคนที่ต้องการสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมที่มีประสิทธิภาพ การเตือนตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่าเราไม่ได้เข้ามาเพื่อเอาชนะ แต่เพื่อร่วมสร้างบางสิ่งให้สำเร็จ คือพื้นฐานของวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรที่ต้องถูกสร้างขึ้น ซึ่งการประชุมที่ดี ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการตัดสินใจทันที แต่ควรจบด้วยความรู้สึกว่า “เราได้ฟังกัน” และบางครั้ง สิ่งเดียวที่ขวางกั้นการฟังที่แท้จริง ไม่ใช่ตารางเวลาหรือ KPI แต่คือ “อีโก้ของเราเอง” ต่างหาก
Bình luận