top of page

Creative Thinking vs Innovative Thinking - ความแตกต่างที่ควรเข้าใจ

ในการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันนั้นทำให้หลายธุรกิจหันมาใส่ใจกับทักษะการสร้างนวัตกรรม (Innovative Skills) กันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และนั่นทำให้ทักษะการคิดสำคัญอย่าง Creative Thinking และ Innovative Thinking ถูกพูดถึงกันอย่างมากเมื่อหลายธุรกิจต้องเจอกับความท้าทายในการพยายามออกจากรูปแบบการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ การพยายามพัฒนาสินค้าใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งเราก็จะเห็นการใช้ชื่อเรียก Creative Thinking และ Innovative Thinking กันอยู่บ่อย ๆ จนหลายคนอาจจะเรียกสลับกันหรือมองว่าเป็นเรื่องเดียวกันทั้งที่สองอย่างนี้ไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว และหากจะโฟกัสกับฝึกฝนให้มีประสิทธิภาพแล้ว ก็ควรจะแยกแยะสองอย่างนี้ให้ชัดเจนด้วยเหมือนกัน


Creative Thinking Skills: การคิดสร้างสรรค์


Creative Thinking คืออะไร ?

ในหัวใจการการคิดแบบ Creative Thinking คือการพยายามสร้างสรรค์ไอเดียที่มีลักษณะสำคัญเช่น มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากไอเดียอื่น มีความเป็นต้นฉบับ ออกนอกกรอบ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเราพูดถึงการคิดแบบสร้างสรรค์นั้นจะเป็นการพยายามใช้ทักษะการคิดของเราในการหาทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาหรือบรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่นการคิดแคปชั่นโฆษณาที่แปลกใหม่ การหาวิธีการถ่ายรูปที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกับทั่วไป เป็นต้น


โฟกัสสำคัญในการพัฒนาทักษะ Creative Thinking

Free-Flowing Idea: การพยายามปล่อยให้ไอเดียสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเรื่อย ๆ โดยไม่มีการขัดขวางหรือทำให้เกิดการสะดุดในการคิด

Divergent Thinking: การพัฒนาทักษะให้เกิดการคิดที่กว้างขึ้น เปิดมุมมองในความเป็นไปได้ที่มากกว่าเดิม เห็นโอกาสมากกว่าเดิม


เทคนิคการคิด Creative Thinking

Mind Mapping: การถ่ายทอดไอเดียลงบนกระดาษ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของลายลักษณ์อักษรหรือการวาดรูปเพื่อทำให้ความคิดออกมาสื่อสารกับผู้อื่นได้

Six Thinking Hats: เครื่องมือการคิดที่ถูกพัฒนาโดย Edward de Bono เพื่อทำให้เราสามารถคิดเป็นระบบและแบ่งแยกบทบาทในการคิด โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญคือการคิดสร้างสรรค์และโฟกัสกับการมองหาความเป็นไปได้

Lateral Thinking: เครื่องมือการคิดที่ถูกพัฒนาโดย Edward de Bono อีกเช่นกันโดยเป็นการคิดแนวขวางที่ต่างไปจากการคิดปรกติ การพยายามคิดไปจากกรอบเดิมโดยทำความเข้าใจก่อนว่ากรอบความคิดอยู่ตรงไหน และมีวิธีการใดที่จะสามารถก้าวออกไปจากกรอบนั้นได้


การใช้งาน Creative Thinking

Creative Thinking จะถูกใช้เป็นพื้นฐานในการคิดของสถานการณ์มากมายโดยแทบจะไม่ถูกจำกัดการใช้งานสำหรับกรณีไหนเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะเราสามารถใช้ Creative Thinking กับทุกอย่างได้ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์งาน การคิดหาตัวเลือกในการใช้ชีวิตอย่างเช่นการแต่งตัว แต่งที่ทำงาน หรือการใช้ระดมไอเดียเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็ได้




Innovative Thinking Skills: การพัฒนาไอเดียสู่โซลูชั่นจริง


Innovative Thinking คืออะไร ?

เมื่อพูดถึง Innovative Thinking แล้วนั้น ก็จะเน้นโฟกัสสำคัญว่าด้วยเรื่องของการสร้างนวัตกรรมใหม่ (Innovation) ขึ้นมาจากเดิมที่เป็นไอเดียตั้งต้น ซึ่งนั่นจะทำให้การคิดเชิงนวัตกรรมนั้นจะมีการคิดที่ครอบคลุมไปตั้งแต่การมองปัญหาที่เกิดขึ้น การระบุปัญหา การเฟ้นหาไอเดีย การพัฒนาไอเดียจนทำให้สามารถทำงานได้จริง การปรับแต่งไอเดียเพื่อให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งตรงนี้เองก็อาจจะมีการพูดสรุปแบบสั้น ๆ ว่าคือการพัฒนาต่อยอดไอเดียเพื่อให้เกิดโซลูชั่นจริง


โฟกัสสำคัญในการพัฒนาทักษะการคิด Innovative Thinking

การพัฒนาให้เกิดแผนงานจริง: การคิดแบบ Innovative Thinking นั้นจะโฟกัสในเรื่องการทำให้ไอเดียต่าง ๆ ที่คิดขึ้นนั้นสามารถนำไปใช้งานต่อได้

Convergent Thinking: นอกจากการคิดแบบสร้างสรรค์ (Creative Thinking) เพื่อกระจายและหาทางเลือกใหม่ ๆ แล้วนั้น การคิดแบบ Innovative Thinking จะมีการโฟกัสในเรื่องการเลือก คัดสรร และจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้ได้ไอเดียที่สามารถนำไปใช้ทำงานต่อได้


เทคนิคการคิดที่ใช้ใน Innovative Thinking

การสร้างแบบจำลอง Prototype: ผู้ฝึกฝนจะต้องคุ้นเคยกับการสร้างแบบจำลองเพื่อทดสอบไอเดียที่เกิดขึ้น

การสร้าง Feedback Loop: ในการพัฒนาไอเดียนั้น จำเป็นจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปปรับแก้อย่างต่อเนื่อง


การใช้งาน Innovative Thinking

Innovative Thinking จะถูกใช้บ่อยในกระบวนการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจ เช่นการพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ ซึ่งสิ่งนั้นเป็นที่ถูกพูดถึงมากในยุคที่ธุรกิจมองหานวัตกรรมใหม่ให้กับตัวเอง


โดยสรุป

มีการเปรียบเทียบในลักษณะว่า Creative Thinking เหมือนการจุดประกายไฟให้เกิดขึ้น ในขณะที่ Innovative Thinking คือการพัฒนาจากประกายนั้นให้กลายเป็นเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง ซึ่งทั้งสองอย่างนั้นก็ยังจำเป็นในโลกการทำงานปัจจุบันและเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนควบคู่กันไปหากองค์กรต้องการให้พนักงานของตัวเองสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อยู่เสมอนั่นเอง

Comments


ติดตามข่าวสารและอัปเดตจาก dots.

Thanks for subscribing.

bottom of page