"ต่อให้ AI มันจเะเจ๋งขนาดไหน จะสร้างโน่นนี้ได้แค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่รู้ว่าจะเอามันมาช่วยงานอะไร มันก็ไม่ต่างจากของเล่นเทคโนโลยีที่เปล่าประโยชน์กับคุณอยู่ดี"
นั่นเป็นสิ่งที่ผมพูดเกริ่นในคลาส AI@Works ที่บรรยายเรื่องการใช้งาน Generative AI กับหลาย ๆ องค์กร เพราะรู้ดีว่าหลายคนกำลังตื่นเต้นกับกระแส AI จนต้องมีการจัดสัมมนาเทรนนิ่งเรื่อง AI อย่าง ChatGPT / Bard กันเยอะมากในช่วงนี้ เช่นเดียวกับกระแสข่าวที่จะลงกันโครมครามว่ามันสามารถสร้างรูปได้นะ อ่านกราฟได้ด้วยนะ ฯลฯ
แต่มีครั้งหนึ่งที่ผมได้คุยกับผู้ที่ผ่านการบรรยายเรื่องเหล่านี้มาแล้วพวกเขาบอกว่า "เออ มันก็เจ๋งดีนะ แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ในงานอย่างไร" ซึ่งนั่นเป็นประเด็นที่น่าห่วงอยู่ไม่น้อยเพราะกลายเป็นว่าเรากำลังชื่นชม AI ในมุมมองของการเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยกับความสามารถที่น่าทึ่ง แต่เรายังปะติปะต่อภาพไม่ออกว่าแล้วเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไรเมื่อเราต้องทำงานกันจริง ๆ
เพื่อจะแก้ปัญหาดังกล่าวและอธิบายแนวทางให้กับผู้มาเรียนที่ dots academy ตั้งต้นได้ถูกนั้น ผมทำ Slide อธิบายตามรูปในโพสต์นี้ว่าลำดับ 3 ขั้นที่เราจะเห็นจากการมี "เครื่องมือ" ใหม่เข้ามาในการทำงานนั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์พื้นฐานสำคัญ 3 ขั้นนี้และเป็นเราซึ่งเป็น "ผู้ใช้เครื่องมือ" นี้จะต้องวิเคราะห์การทำงานของเราและนำไปใช้ให้เหมาะสม
📍1. การใช้ AI เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น (Efficiency)
ในลำดับขั้นนี้คือการที่ผู้ใช้งานสามารถนำเครื่องมือใหม่อย่าง AI มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเดิมให้ดีขึ้น เช่นการสร้างงานได้มากขึ้นในเวลาเท่าเดิม การสร้างงานโดยใช้เวลาที่เร็วขึ้น หรือการสร้างงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งตรงนี้จะเป็นจุดที่คนมีเครื่องมือจะต้องหาดูว่าในกระบวนทำงานเดิมของตัวเองนั้น มีอะไรบ้างที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับต้องมีภาพที่ชัดเจนว่าประสิทธิภาพที่ดีขึ้นนั้นคืออะไร ส่งผลอะไรกับธุรกิจ
ตัวอย่างที่จะเห็นได้คือการใช้ Generative AI ช่วยทำงานเอกสารที่เดิมใช้เวลาทำเยอะให้เหลือเวลาทำนิดเดียว ทำให้สามารถรับงานได้มากขึ้นหรือเอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่าเป็นต้น
📍2. การใช้ AI เพื่อเพิ่มความสามารถใหม่ให้กับผู้ทำงาน (Capability)
กล่าวคือการมี AI ทำให้เราสามารถทำบางสิ่งที่แต่ก่อนเรารู้ว่าควรทำแต่ไม่สามารถทำได้ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากอุปสรรคในข้อจำกัดต่าง ๆ เช่นความสามารถ เวลา ทรัพยากร ซึ่งการที่ AI เข้ามาชดเชยในส่วนนี้จะทำให้ยกระดับความสามารถของผู้ทำงาน / องค์กรไปอีกระดับได้
ตัวอย่างเช่นการหาไอเดียสำหรับกิจกรรมบางอย่างซึ่งเรารู้เสมอว่าควรมีตัวเลือกที่มากระดับหนึ่งแล้วนำมาพิจารณาแต่เรายากที่จะทำได้ด้วยความสามารถ ซึ่งก็สามารถให้ Generative AI ช่วยทำงานตรงนี้ได้ หรือการที่คนอยากได้ชิ้นงานภาพมาประกอบบทความแต่ก็ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองไม่มีทักษะด้านนี้พอ ก็สามารถทำได้แล้วโดยใช้ Generative AI มาช่วยสร้างคอนเทนต์ เป็นต้น
📍3. การใช้ AI เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่
กรณีนี้คือการโจทย์ที่องค์กร / ทีมงานจะต้องศึกษาและคิดไปให้มากกว่างานที่ทำอยู่ว่ามีอะไรอีกที่เราอยากทำให้เกิดขึ้นแต่ไม่สามารถทำได้ในอดีตและนำ AI เข้ามาใช้ในการทำสิ่งนี้ ซึ่งต้องบอกว่าในระดับนี้จะเป็นระดับที่ไม่ง่ายนักเนื่องจากจะออกจากกรอบการทำงานเดิมที่องค์กร / คนทำงานเป็นอยู่ และต่างจากสองลำดับแรก
พอผมอธิบาย 3 ลำดับนี้แล้วนั้น ผมมักจะชี้ว่าพื้นฐานที่คนทำงานและองค์กรควรจะโฟกัสและเริ่มทำให้ได้เสียก่อนคือลำดับที่ 1-2 และต้องกลับไปดู Working Process ว่ามีส่วนไหนที่จะสามารถทำสองข้อดังกล่าวได้บ้าง อีกทั้งต้องมีคำตอบว่าจะทำสองข้อดังกล่าวอย่างไร
ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งสำคัญมากคือเราไม่ควรชื่นชมว่า AI เก่งขนาดไหน แต่เราควรจะชื่นชมในฐานะที่มันเข้ามาเปลี่ยนวิธีการทำงานของเราให้ดีขึ้น ให้เรามีความสามารถในการสร้างผลงานมากขึ้น
เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็จะได้ของเล่นใหม่ที่เอามาเล่นเพลิน ๆ ฆ่าเวลาให้รู้สึกว่าอินเทรนด์แต่ก็จะงงเมื่อเวลาผ่านไปว่าจะเอามาใช้ทำอะไร สักพักก็จะเลิกใช้งานไปไม่ต่างจากหลายเครื่องมือที่ออกมาก่อนหน้านี้นั่นเอง
ณัชพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง
Comments